ประจำเดือนแบบไหน...บ่งบอกภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง?
สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนไม่ปกติมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจเกิดจากการมีฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลต่อความถี่การเกิดการตกไข่ หรืออาจเกิดจากความถี่ของการมีประจำเดือน ทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุล หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ได้เช่นกัน ประจำเดือนมาไม่ปกติเสี่ยงมีบุตรยากด้วยเหมือนกัน ตรงที่การที่ประจำเดือนขาดๆ หายๆ หรือมาไม่ปกติ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่าร่างกายของคุณอาจมีไข่ตกบ้างไม่ตกบ้าง หรืออาจไม่มีไข่ตกเลยก็ได้ ซึ่งการที่ไม่มีไข่ตกนี้เองเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีบุตรยาก ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ยิ่งคุณมีไข่ตกน้อยเท่าโหร่โอกาสการตั้งครรภ์ก็จะน้อยลงไปด้วย
การที่ประจำเดือนมาปกติหรือไม่ปกตินั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่อาจทำให้มีบุตรยาก สิ่งสำคัญที่สุดในการตั้งครรภ์ก็คือ การตกไข่ ตราบใดที่การตกไข่ของคุณเป็นปกติโอกาสในการมีลูกก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนไม่มาอาจเป็นสัญญาณบอกได้ว่าคุณไม่ตกไข่ได้ ก็จะทำให้มีบุตรยากนั่นเอง
ส่วนสีของประจำเดือนสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพภายในของระบบเจริญพันธุ์ว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่ และยังสามารถบ่งบอกว่า คุณผู้หญิงทั้งหลายกำลังอยู่ในภาวะมีบุตรยากหรือไม่ ก่อนอื่นมาทำความรู้จักประจำเดือนให้ลึกขึ้นกันก่อน การมีประจำเดือนนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนจากระบบเจริญพันธุ์ ในทุก ๆ เดือนจะมีไข่ตกเพื่อรอการปฏิสนธิจากอสุจิ ซึ่งระหว่างนั้นร่างกายจะทำการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นมาให้มีลักษณะหนานุ่มเพื่อรองรับการฝังตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิเพื่อให้เกิดเป็นทารกต่อไป โดยหากในรอบเดือนนั้น ๆ ไข่ไม่ได้รับการผสมกับอสุจิ ไข่ก็จะฝ่อไปเองตามธรรมชาติ ส่วนเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนโดยจะมีปริมาณและสีของประจำเดือนก็มักจะแต่งต่างกันออกไปอยู่ที่สุขภาพในช่วงเวลานั้น ๆ
โดยหากประจำเดือนมีสีแดงออกคล้ำเล็กน้อย หรือสีแดงสด จะเป็นสีของประจำเดือนที่อยู่ในภาวะปกติ สีนี้มักจะปรากฏในช่วงแรก ๆ ของการเป็นประจำเดือน ในระยะนี้หลายคนมักจะมีอาการปวดท้องประจำเดือนร่วมด้วยซึ่งเกิดจากภาวะมดลูกมีการหดรัดตัวเพื่อให้เลือดหยุดซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ สามารถทานยาแก้ปวดเพื่อระงับอาการปวดได้ แต่ถ้ามีอาการปวดจนทนไม่ไหวควรเข้าพบแพทย์ตามโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทาง
หากประจำเดือนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและสีเข้มจนเกือบดำ สีนี้มักเป็นสีที่มักจะออกมาในช่วงระยะท้ายๆ ของการมีประจำเดือน ซึ่งสีของเลือดประจำเดือนที่คล้ำลงนั้นเกิดจากเลือดที่ค้างอยู่ภายในมดลูกนานตั้งแต่ช่วงแรกในการมีประจำเดือน แต่ว่าไม่ได้ถูกขับออกมาในทันที ดังนั้นจากสีแดงจึงเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล แต่หากว่าคุณผู้หญิงเป็นผู้ที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกบาง และรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ อาจจะเป็นเรื่องปกติที่ประจำเดือนจะมาไม่เยอะมาก และอาจจะมีทั้งสีแดงสด สีน้ำตาลอ่อนหรือสีเข้มบางซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติ แต่ถ้าหากท่านไม่ได้ทานยาคุมกำเนิด แต่ประจำเดือนมีน้อยและมีสีน้ำตาล อาจเป็นภาวะเลือดออกจากการตั้งครรภ์หรือมีความผิดปกติของฮอร์โมนในระบบเจริญพันธุ์ควรเข้าพบแพทย์ทันที
ประจำเดือนที่มาน้อยหรือมาแบบกะปริบกะปรอยนั้น มีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น น้ำหนักที่ “ต่ำกว่า” มาตรฐาน เนื่องจากในมวลร่างกายนั้นควรจะมีมวลกล้ามเนื้อและไขมันที่สมดุล หากร่างกายผอมเกินไปอาจจะส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันลดลงและทำให้การผลิตไข่น้อยลง หรือน้ำหนักที่ “เกินกว่า” มาตรฐาน เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ต่ำกว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักตามมาตรฐานถึง 40% เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินทำให้ร่างกายไม่สมดุล ทำให้ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติและมาให้ไม่สม่ำเสมอ
รวมถึงสาเหตุก็อาจจะเกิดได้จากการออกกำลังกายมากไป ในบางรายอาจจะหักโหมการออกกำลังกายมากเกินไปจนทำให้มวลไขมันในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วเกินไป ทำให้ฮอร์โมนแปรปรวนส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือสาเหตุจากการทานยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากการทานยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นเป็นการทานเพื่อควบคุมฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนในร่างกาย ทำให้อาจจะมีช่วงที่ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ
และสาเหตุก็อาจมาจากปัญหาด้านระบบภายในอุ้งเชิงกร้าน เป็นความผิดปกติของภายในที่ประจำเดือนไม่ถูกขับออกมาตามธรรมชาติแต่ถูกเก็บไว้ภายในโพรงมดลูก พังผืดในโพรงมดลูก เนื้องอกในโพรงมดลูก หรือภาวะถุงรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic ovary syndrome (PCOS) จำเป็นต้องพบแพทย์ตามโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทางเพื่อทำการรักษาต่อไป
แล้วประจำเดือนแบบไหนถึงจะบ่งบอกว่า คุณผู้หญิงตกอยู่ในภาวะมีบุตรยาก สัญญาณแรกดูได้จากรอบเดือน โดยทั่วไปแล้วประจำเดือนรอบปกติจะอยู่ที่ 21-35 วัน หากท่านเป็นผู้ที่มีรอบประจำเดือนน้อยหรือมากกว่ารอบดังกล่าว เช่นรอบนึงมีประจำเดือนมากกว่า 1 ครั้ง หรือเกิน 35 วันแล้วประจำเดือนยังไม่มา อาจจะเกิดจากความผิดปกติในระบบเจริญพันธุ์ เช่น อาการของภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ในกรณีนี้มักตรวจพบในฝ่ายหญิงที่มีน้ำหนักเกินและผู้ที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง หรือในบางกรณีฝ่ายหญิงมีผนังโพรงมดลูกหนาเกินไปเพราะไม่มีการตกไข่ ในกลุ่มนี้อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะตรวจพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้นหากพบความผิดปกติควรเข้าพบแพทย์ตามโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุทันที
อย่างที่สองดูได้จากปริมาณของประจำเดือน ประจำเดือนของทั่วไปนั้นจะมีระยะเวลาอยู่ที่ 2-7 วัน และจะมีปริมาณต่อวันนับจากจำนวนผ้าอนามัยที่ใช้เปลี่ยนแล้วไม่ควรเกิน 3-5 แผ่นต่อวัน ซึ่งหากมากกว่านี้ถือว่า เป็นประจำเดือนที่มามากผิดปกติ นอกจากนี้ควรจะสังเกตลักษณะของเลือดประจำเดือนด้วยว่า มีลิ่มเลือดที่มีขนาดเกินปลายนิ้วก้อยออกมาร่วมด้วยหรือไม่ และมีเลือดออกกะปริบกะปรอยหลังจากประจำเดือนหยุดแล้วหรือไม่ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรจะเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการต่อไป
และอย่างสุดท้ายดูได้จากอาการปวดผิดปกติ การปวดท้องน้อยในระยะที่เป็นประจำเดือนนั้นเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับผู้หญิงทุกคน โดยปกติมักจะมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ช่องคลอดหรือทวารหนัก และมีอาการปวดหลังร่วมด้วย อาการนี้เกิดจากการหดตัวของร่างกายที่จะเกร็งมดลูกเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดเลือดมากเกินไป และสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อน หลัง หรือระหว่างมีประจำเดือนก็ได้ อาการการปวดประจำเดือนนี้ สามารถบรรเทาได้หลายวิธี เช่น การอาบน้ำอุ่น แช่น้ำอุ่น การประคบร้อนบริเวณท้องน้อย ทานยาแก้ปวดหรือฉีดยาเพื่อลดอาการปวดได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดมากเกินไปเช่น ปวดจนยืดตัวตรงไม่ได้ หรือเดินไม่ได้นั้นควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เนื่องจากระบบภายในเจริญพันธุ์ภายในร่างกายอาจจะทำงานผิดปกติ เช่น เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ที่รังไข่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ ก็เป็นได้
โดยสรุปแล้วหากคุณผู้หญิงทั้งหลายสังเกตตัวเองแล้วว่า มีความผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือนเข้าข่ายสงสัยภาวะมีบุตรยากตามอาการดังต่อไปนี้ สาว ๆ ที่ต้องการมีลูก ควรปรึกษาแพทย์ตามโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป เนื่องจากมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเราโดยตรง ไม่ใช่เฉพาะแคปัญหาเรื่องมีบุตรยากเท่านั้น
- รอบของการมีประจำเดือนปกติ ควรเป็น 21 - 35 วัน ถ้าถี่หรือห่างกว่านี้ อาจมีความผิดปกติของการตกไข่โดยมักพบในผู้หญิงน้ำหนักตัวมาก หรือภาวะฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกติ
- ประจำเดือนออกน้อยอาจมีภาวะเยื่อบุมดลูกผิดปกติหรือมีพังผืดในโพรงมดลูก
- ประจำเดือนออกมากอาจมีเนื้องอกมดลูกหรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูก
- ประจำเดือนมากกว่าปกติ เช่น โรคเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติหรือมีเนื้องอกมดลูก
- บางรายอาการไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน เช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูกบ่อย คลำพบก้อนที่ท้องน้อย อาจจะเป็นโรคเนื้องอกมดลูกที่ไปกดเบียดอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้
หากกำลังประสบปัญหามีบุตรยากอาจจะกังวลว่าจะไม่สามารถมีบุตรได้ ปัจจุบันนั้นมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถรักษาภาวะมีบุตรยากได้อย่างตรงจุด เทคนิคนี้หลายคนมักจะคุ้นหูกันในชื่อการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือการทำอิ๊กซี่ (ICSI) กระบวนการนี้เป็นเทคนิคทางแพทย์ที่ช่วยเรื่องการเจริญพันธุ์ในเชิงของการปฏิสนธินอกร่างกาย และถือเป็นเทคนิคการแพทย์ชั้นสูงที่ถูกพัฒนามาจากการทำเด็กหลอดแก้วแบบ IVF แต่ให้ผลลัพธ์เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จที่สูงกว่า
เพราะการทำ IVF นั้นจะเป็นการคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์และเชื้อที่แข็งแรงมาผสมกันจนเป็นตัวอ่อนและจึงนำกลับเข้าไปที่โพรงมดลูก แต่การทำ ICSI จะเป็นการปฏิสนธิแบบตั้งใจก็คือ การนำเข็มใส่เชื้อที่แข็งแรงที่สุดฉีดเข้าไปในไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อนแล้วจึงนำกลับไปในโพรงมดลูก สามารถคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อนได้มากกว่าครรภ์ทั่วไป ช่วยลดความเสี่ยงกับโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และยังลดความเสี่ยงต่อบุตรในท้องลูกที่เกิดมาอาจเป็นดาวน์ซินโดรมได้อีกด้วย ซึ่งโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์โดยวิธีของการทำอิ๊กซี่นั้นมีสูงถึง 80-85 % อีกด้วย
อ้างอิง
สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก
กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร