การทำ IUI คืออะไร และต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง?

 


 

 

คู่พ่อแม่ที่เสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยากในปัจจุบันคือ คู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมออย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่ได้ใช้วิธีคุมกำเนิดใด ๆ แล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หากคู่ไหนเข้าข่ายก็ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม (หรือหากอายุเยอะแล้ว ไม่ต้องรอถึง 1 ปี ก็สามารถมาพบแพทย์ก่อนได้) ซึ่งสาเหตุของภาวะมีบุตรยากมีหลายสาเหตุ แบ่งเป็นสาเหตุจาก 3 ฝั่งใหญ่ ๆ คือ สาเหตุจากฝ่ายหญิงประมาณ 40% ฝ่ายชายประมาณ 40% และสาเหตุที่ไม่ทราบสาเหตุหรือมาจากทั้งหญิงและชายอีกประมาณ 10-20%

 

การรักษาภาวะมีบุตรยากในปัจจุบันนี้ อัตราความสำเร็จจะขึ้นกับปัญหาของแต่ละคู่ แต่หากไม่พบสาเหตุที่ผิดปกติชัดเจนมักจะเริ่มจากวิธีง่าย ๆ ที่ใกล้เคียงธรรมชาติก่อน เช่น การทานยากระตุ้นไข่ให้โต และให้มีเพศสัมพันธ์ในวันที่คาดว่าไข่จะตก ซึ่งสามารถใช้วิธีนี้ได้ประมาณ 2-3 รอบเดือน หากทุกรอบที่ทานยามีไข่โตได้ขนาดเหมาะสม ไข่ตกตรงเวลาแล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ก็ปรับไปเป็นการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก หรือ IUI (Intrauterine insemination) ซึ่งวิธีนี้เริ่มจากการทานยากระตุ้นไข่หรืออาจจะใช้ยาฉีดกระตุ้นไข่ร่วมด้วย (กรณีที่ไข่โตไม่ดี) เมื่อไข่โตได้ขนาดก็ใช้วิธีฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูกแทนการมีเพศสัมพันธ์กันเอง โดยน้ำอสุจิจะได้รับการเตรียมก่อนฉีดเพื่อล้างเอาเซลล์เม็ดเลือดขาวอสุจิที่ตาย และสารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมากออก ทำให้ความเข้มข้นของอสุจิเพิ่มมากขึ้น ก่อนใช้สายพลาสติกคล้ายหลอดนมยาว ๆ นุ่ม ๆ สอดผ่านปากมดลูกและปล่อยเชื้ออสุจิเข้าไป

 

IUI เป็นวิธีนี้รักษาผู้มีบุตรยากได้ง่ายกว่า IVF มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากจึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการเริ่มต้นรักษาภาวะมีบุตรยาก แต่การทำ IUI จะมีโอกาสสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยมดลูก รังไข่ ไข่ และอสุจิที่ปกติเพียงหรือผิดปกติเพียงเล็กน้อย และจำเป็นต้องมีท่อนำไข่ที่ใช้การได้ การบำรุงเตรียมตัวล่วงหน้า บำรุงไข่ บำรุงอสุจิไปก่อนกระตุ้นไข่และเก็บเชื้อ ร่วมกับการเตรียมผนังมดลูกให้แข็งแรง รวมทั้งได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นได้

 

ขั้นตอนการเตรียมทำ IUI เริ่มจากฝ่ายหญิงที่มีบุตรยากจะต้องกินยาหรือฉีดยาเพื่อกระตุ้นไข่ 5-10 วัน เพื่อให้ได้ไข่ที่โตเต็มที่ จากนั้นแพทย์จะนัดอัลตราซาวน์ ดูขนาดและจำนวนฟองไข่ หลังจากการกินยาหรือฉีดยากระตุ้นไข่ไป เมื่อได้ฟองไข่ตามต้องการแล้วจึงฉีดยาให้ไข่ตก พร้อมนัดหมายวันฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก ส่วนฝ่ายชายจะทำการเก็บน้ำเชื้อในวันที่นัดฉีดน้ำเชื้อเพื่อปั่นคัดเลือกตัวอสุจิที่แข็งแรงก่อนฉีดเข้าสู่โพรงมดลูก หลังจากนั้นแพทย์ก็จะนัดตรวจการตั้งครรภ์หลังฉีดน้ำเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์

 

ข้อจำกัดในการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ IUI จะมีเรื่องท่อนำไข่ของฝ่ายหญิงจะต้องมีความปกติ ไม่มีการตันของท่อนำไข่ ส่วนฝ่ายชายควรจะมีน้ำเชื้ออสุจิที่ปกติด้วย นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้การทำ IUI ไม่สำเร็จนั้น อาจมีสาเหตุได้จาก

·  ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ข้างเดียว เพราะบางรอบเดือนไข่อาจตกในข้างที่ท่อนำไข่ตัน ทำให้ไข่ไม่สามารถตกเข้าท่อนำไข่และปฏิสนธิได้

·  ฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 40 ปี

·  ฝ่ายหญิงมีปัญหาปากมดลูกผิดปกติรุนแรง เช่น ปากมดลูกตีบหรือเคยผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน จะทำให้ฉีดเชื้ออสุจิไม่เข้า ฉีดได้ยาก เจ็บมากขณะฉีด ทำให้โอกาสสำเร็จน้อยลง

·  ฝ่ายหญิงมีพยาธิสภาพในมดลูกที่ขัดขวางการฉีดเชื้อและการปฏิสนธิ เช่น เนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกอย่างมาก

·  ฝ่ายหญิงมีโพรงมดลูกและความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกไม่เพียงพอที่จะให้ตัวอ่อนฝังตัวได้

·  ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมดลูกและอวัยวะสืบพันธุ์ฝ่ายหญิง มีอุปสรรคขัดขวางขบวนการการตกไข่ เช่น มีพังผืดขวางทางระหว่างไข่กับทางเข้าของท่อนำไข่ หรือท่อนำไข่ตัน หรือโครงสร้างทางกายวิภาคของท่อนำไข่กับรังไข่นั้นไม่เหมาะสม ทำให้ไข่ไม่สามารถตกเข้าท่อนำไข่ได้

 

นอกจากนี้ การทำ IUI ติดต่อกันหลายรอบสามารถช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จ โดยมักจะสำเร็จใน 3-4 ครั้ง แต่โดยทั่วไปสามารถทำต่อเนื่องได้แต่ไม่ควรเกิน 6 ครั้งของการรักษา เนื่องจากอัตราความสำเร็จหรืออัตราการตั้งครรภ์สะสมหลังการทำ IUI 4-6 ครั้ง จะเริ่มคงที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยแพทย์อาจแนะนำให้ทำ 4-6 ครั้ง ถ้ายังไม่สำเร็จอีกควรพิจารณาการรักษาเป็นแบบการทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือ ICSI แทน

 

ทั้งนี้หากทำ IUI 2-3 ครั้งแล้วยังไม่สำเร็จ แพทย์อาจพิจารณาให้ประเมินหาสาเหตุซ้ำเช่น ตรวจฉีดสีดูท่อนำไข่ หรือส่องกล้องในโพรงมดลูกเพื่อดูว่าสาเหตุที่ทำให้การทำ IUI ไม่สำเร็จเป็นเพราะอะไรและสามารถแก้ไขได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี ไม่แนะนำให้ฉีดเชื้อเกิน 4 ครั้ง เนื่องจากผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปีนั้นมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลงตามธรรมชาติจากการผลิตไข่ที่มีความสมบูรณ์ลดลง หากฉีดเชื้อ 3-4 ครั้งแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ควรเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและให้ผลดีกว่า เช่น การทำ ICSI

 

วิธีการเตรียมตัวเบื้องต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เตรียมทำ IUI นั้น จำเป็นจะต้องดูแลร่างกายให้สมบูรณ์ทั้งภายในและภายนอก โดยปัจจัยแรกที่ต้องใส่ใจคือ เรื่องของอาหารการกิน การทานอาหารที่ครบทั้งห้าหมู่เป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินที่หลากหลาย ทำให้ร่างกายไม่ขาดสารอาหาทำให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมและบำรุงส่วนต่าง ๆ ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าหากท่านต้องบำรุงไข่และอสุจิเพื่อการมีทำ IUI เป็นไปได้ง่ายขึ้น

 

ควรพักผ่อนเพียงพอเป็นประจำทุกวันอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่กันไปเป็นประจำ การออกกำลังกายนั้นไม่จำเป็นจะต้องออกกำลังกายแบบหนัก ๆ หรือหักโหม แต่ควรเลือกการออกกำลังกายตามความถนัด 1 อาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เช่น เดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ  เต้นแอโรบิก การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น เสริมสร้างกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเอ็น เอ็นข้อต่อ กระดูก ลดไขมัน หัวใจ ปอด ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานปกติ ลดอาการปวดหลัง ลดความเครียด ทำให้นอนหลับสบาย และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศให้สามารถมีลูกได้ง่ายขึ้น และต้องไม่ลืมงดการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชาและกาแฟด้วย

 

หลังทำ IUI คุณแม่ควรนอนพักนิ่ง ๆ บนเตียงประมาณ 30 นาที ก่อนที่จะเคลื่อนไหว เพื่อให้อสุจิเดินทางไปถึงไข่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้น สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ หลังจากที่ฉีดเชื้อแล้ว แพทย์มักแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ซ้ำในอีก 1-2 วัน เพื่อให้มีเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกมากขึ้นด้วย และควรงดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง 2-3 วัน ทั้งนี้ หลังทำ IUI ควรเลือกการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเบา ๆ และยังไม่ควรว่ายน้ำ หลังจากนั้นสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่ควรออกกำลังหนักหรือหักโหมจนเกินไป หลังการทำ IUI ให้คุณแม่หลีกเลี่ยงที่จะใช้ยาที่จะมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ยารักษาสิว เป็นต้น ในกรณีที่ต้องใช้ยาหรือไม่แน่ใจเรื่องยา ควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ผู้เข้ารับการรักษาบางราย แพทย์อาจจะจ่ายยาบำรุงหรือยาฮอร์โมนสำหรับทานและเหน็บช่องคลอด ซึ่งยาเหล่านี้นั้นมีส่วนช่วยในการฝังตัวอ่อน

 

คุณแม่ที่ทำ IUI สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร หรือต้องระวังการทานอาหารชนิดไหนเป็นพิเศษ ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่และทานให้หลากหลายเพื่อป้องกันร่างกายขาดสารอาหาร และการรับประทานอาการที่ปรุงสุก สะอาด เพื่อไม่ให้ท้องเสียซึ่งนำไปสู่การบีบตัวของมดลูกมากเกินไป หากต้องการบำรุงให้เลือกรับประทานอาหารที่บำรุงสุขภาพ อาหารบำรุงไข่ ได้แก่ ไข่ น้ำเต้าหู้ งาดำ น้ำมะกรูด ผักใบเขียว ถั่ว ข้าวกล้องและขนมปังไม่ขัดสี กล้วยหอม วิตามินบีและกรดโฟลิก มะเขือเทศ ปลาทะเล ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ หอยนางรม เป็นต้น อาหารบำรุงอสุจิ ได้แก่ ไข่ ถั่ว กระเทียม หอยนางรม เนื้อวัว กล้วย ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ช็อกโกแลต มะเขือเทศ เป็นต้น

 

หลังการฉีดเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์ แพทย์จะนัดให้มาตรวจสอบการตั้งครรภ์ ถ้ายังไม่ถึง 2 สัปดาห์ไม่ต้องรีบทดสอบการตั้งครรภ์ก่อนเพราะผลอาจผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจมีผลข้างเคียงบ้างเช่น อาการปวดท้อง มีการระคายเคืองหรือเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 2-3 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น เป็นไข้หรือตกขาวมากร่วมด้วย แนะนำให้มาพบแพทย์ทันที

 

ส่วนใครที่อยากมีบุตรเป็นแฝดแล้วใช้วิธี IUI นั้นต้องบอกว่า การรักษาด้วยวิธี IUI นั้น มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์แฝดได้อัตราเฉลี่ยประมาณ 10-15% หากอสุจิและไข่ปฏิสนธิกันมากกว่า 1 ใบ เนื่องจากกระบวนการทำ IUI คล้ายกับการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติคือ ไข่ 1 ใบ ปฏิสนธิกับอสุจิ 1 ตัว แต่การรักษาด้วยการทำ IUI จะมีการรับประทานยาหรือฉีดยากระตุ้นไข่ทำให้มีไข่พร้อมตกมากกว่า 1 ใบ เมื่อฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก ไข่ที่ตกทั้งหมดสามารถปฏิสนธิกับอสุจิ และอาจจะสามารถเกิดครรภ์แฝดได้

 

การตั้งครรภ์ลูกแฝดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แฝดเทียม เกิดจากที่ฝ่ายหญิงมีไข่ตก 2 ใบ ในรอบเดือนนั้น ๆ โดยไข่แต่ละใบปฏิสนธิกับอสุจิคนละตัว และพัฒนาจนเป็นตัวอ่อน หรือทารก 2 คนที่เติบโตอยู่ภายในมดลูกของฝ่ายหญิงในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากฝาแฝดประเภทนี้ เกิดจากไข่คนละใบที่ปฏิสนธิกับอสุจิคนละตัว ฝาแฝดจึงมีรูปร่างหน้าตาและเพศที่แตกต่างกันได้ อีกแบบนึงก็คือ แฝดแท้ เกิดจากไข่ 1 ใบที่ปฏิสนธิแล้วแบ่งตัวออกเป็นตัวอ่อน 2 ตัวในระหว่างแบ่งเซลล์ จนพัฒนากลายเป็นทารกในครรภ์ 2 คน ที่หน่วยพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ เป็นเพศเดียวกันและมีหน้าตาเหมือนกัน ดังนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า ลูกแฝดที่เกิดจากการทำ IUI จะเป็นแฝดเทียม หน้าตาไม่เหมือนกัน เพราะเกิดจากไข่คนละใบ ปฏิสนธิกับอสุจิคนละตัว และอาจจะเป็นเพศเดียวกันหรือคนละเพศก็ได้

 

นอกจากนี้ หลายคนที่สนใจจะทำ IUI อาจอยากรู้ว่า การรักษาโดยการทำ IUI สามารถเลือกเพศลูกได้หรือไม่ คำตอบทางการแพทย์ก็คือ ไม่สามารถเลือกลูกได้แบบ 100% เพราะการรักษาแบบ IUI คล้ายกับการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติซึ่งหากกล่าวแล้วก็เหมือนเกิดจากตามธรรมชาติเลย แต่มีบางความเชื่อที่กล่าวว่า อสุจิที่หัวโต มักจะเป็นเพศชายซึงหากเลือกตัวที่หัวใหญ่หรือคุณผู้ชายที่มีตัวที่หัวใหญ่เยอะก็อาจมีโอกาสได้บุตรเพศชายมากกว่า แต่ทั้งหมดล้วนเป็นแค่ความเชื่อ เพศมักสุ่มเกิดโดยมีโอกาส 50% เท่า ๆ กัน

 

จะเห็นได้ว่า การทำ IUI เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ใกล้เคียงกับวิธีธรรมชาติ ผู้มีบุตรยากสามารถปฏิบัติตัวและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากเป็นการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรงโดยใช้ท่อพลาสติกเล็ก ๆ สอดผ่านปากมดลูกแล้วฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในช่วงที่มีหรือใกล้กับเวลาที่มีไข่ตก โดยให้อสุจิและไข่ผสมกันเองและเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น โดยใช้เวลาในการทำไม่กี่นาทีและไม่เจ็บ จะมีจุดด้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว IVF และ ICSI อยู่ที่มีโอกาสสำเร็จน้อยกว่า และไม่สามารถตรวจโครโมโซมตัวอ่อนได้ ดังนี้หลังจากการฉีดเชื้อ การดูแลตัวเองและการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมนั้น จะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์มากขึ้นได้ การทำ IUI เหมาะสำหรับการเริ่มต้นรักษาภาวะมีบุตรยากได้ดี โดยเฉพาะคู่แต่งงานที่ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ หรือมีปัญหาการตกไข่ เพราะวิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด


อ้างอิง

https://www.nakornthon.com/article/tags/iui

https://worldwideivf.com/others/%E0%B8%97%E0%B8%B3-iui-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3/

https://beyondivf.com/iui-intra-uterine-insemination-beyondivf/

 

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร