ผู้มีบุตรยากจะตั้งครรภ์ลูกแฝดได้หรือไม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

 

ผู้มีบุตรยากจะตั้งครรภ์ลูกแฝดได้หรือไม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

 

ผู้มีบุตรยากจะตั้งครรภ์ลูกแฝดได้หรือไม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

 

 

การตั้งครรภ์แฝด (Multiple pregnancy) หมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป โดยหากมีสองคน เรียกว่า “แฝดสอง” (Twins), สามคน เรียกว่า “แฝดสาม” (Triplets), และสี่คน เรียกว่า “แฝดสี่” (Quadruplets) ส่วน “การตั้งครรภ์ทารกตั้งแต่สองคนขึ้นไป” เรียกในภาษาอังกฤษว่า High-order multiples คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดมีโอกาสครรภ์แฝดหรือมีลูก 2 คนประมาณ 90 % มากกว่าการเกิดแฝดสามหรือแฝดสี่ หลายคนอาจเคยได้ยินครรภ์แฝดแท้กับแฝดเทียม ทั้งสองแบบแตกต่างกันอย่างไร สามารถแบ่งการเกิดของคู่แฝดได้เป็น 2 แบบก็คือ

 

แฝดแท้ จะเป็นแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวและอสุจิตัวเดียวกัน ก่อนจะแบ่งตัวอ่อนเป็นสองคน ลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันแทบทุกอย่าง จึงทำให้มีลักษณะภายนอกที่เหมือนกันและมีพันธุกรรมเดียวกัน ซึ่งแฝดแท้จะมีอัตราการเกิดประมาณ 1 ใน 3 ของการตั้งครรภ์แฝดทั้งหมด ทั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดที่อธิบายได้ว่า แฝดแท้ ในช่วงปฏิสนธิเกิดการแบ่งตัวได้อย่างไร หรืออะไรคือสาเหตุทำให้เกิดแฝดแท้

 

แฝดเทียม จะเกิดจากการปฏิสนธิไข่ 2 ใบและอสุจิ 2 ตัวที่แยกกันฝังตัวในมดลูก ดังนั้นหน้าตาของฝาแฝดเทียมจะไม่เหมือนกันแบบเดียวกับแฝดแท้แต่จะมีลักษณะคล้ายกับพี่น้องกัน ซึ่งฝาแฝดอาจจะเป็นเพศเดียวกันหรือคนละเพศก็ได้

 

ในช่วงแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจยังไม่รู้ว่าลูกน้อยเป็นแฝดแท้หรือแฝดเทียม บางคู่เป็นแฝดแท้แต่คลอดออกมากลับมีเยื่อหุ้มทารกแยกออกจากกัน ซึ่งปกติแล้วถ้าเป็นแฝดแท้เด็กจะใช้รกและถุงน้ำคร่ำเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจ 100 % ว่าเป็นแฝดแท้หรือเทียม คุณแม่สามารถตรวจ DNA พิสูจน์ได้ว่าเป็นแฝดประเภทใด มีเพียงแฝดแท้เท่านั้นที่จะมี DNA เหมือนกันทั้งหมด หรือสามารถตรวจจากกรุ๊ปเลือดได้ ถ้ามีกรุ๊ปเลือดเดียวกันก็เป็นแฝดแท้นั่นเอง

 

ฝาแฝดจะเกิดเป็นเพศชายหรือหญิงนั้น มีโอกาสเท่า ๆ เหมือนกับการตั้งครรภ์ลูกคนเดียวตามปกติ  และการมีลูกแฝดจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เฉพาะแฝดคนละใบ หรืออาจจะข้ามรุ่นได้ เช่น คุณย่ามีลูกแฝดและข้ามมาเป็นรุ่นหลานที่สามารถให้กำเนิดลูกแฝดได้เช่นกัน

สำหรับคุณแม่ที่อยากมีลูกแฝดควรรู้ข้อมูลก่อนว่าการตั้งครรภ์แฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร และปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมีดังนี้

  • ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone)ที่เพิ่มขึ้นกระตุ้นให้ร่างกายผลิตไข่หลายใบ จึงเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์แฝดมากขึ้นด้วยทั้งนี้มักพบมากในคุณแม่ที่อายุเกิน 35 ปีซึ่งมีระดับฮอร์โมนนี้มากกว่าอายุน้อยกว่านี้
  • คุณแม่ที่เคยคลอดมาแล้วหลายครั้ง จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น
  • คุณแม่ที่คนในครอบครัวมีประวัติตั้งครรภ์แฝด โดยการตั้งครรภ์แฝดเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากทางฝั่งแม่

 

คุณแม่ที่อยากมีลูกแฝดควรปรึกษาแพทย์ว่ามีทางไหนบ้างทำให้ท้องลูกแฝดได้ โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้กินยากระตุ้นรังไข่ให้ไข่ตกมากกว่า 1 ใบ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น และคุณแม่ควรสังเกตการตกไข่และระยะเวลาการมีประจำเดือนอย่างแม่นยำ เพื่อคำนวณเวลามีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีการตกไข่พอดี จะมีโอกาสตั้งครรภ์ง่ายขึ้น

 

นอกจากนี้ คุณแม่บางคนยังมีแนวโน้มที่จะให้กำเนิดลูกแฝดมากกว่าคนอื่น โดยจากข้อมูลของ American Society for Reproductive Medicine หรือ ASRM ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์แฝด ได้แก่ เชื้อชาติ อายุ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ประวัติการตั้งครรภ์แฝดก่อนหน้านี้ ตลอดจนการใช้รักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  • เชื้อชาติ มีงานวิจัยพบว่าผู้หญิงแอฟริกันและผู้หญิงผิวขาวเว้นผู้หญิงเชื้อชาติฮิสแปนิก (ผู้หญิงที่ใช้การสื่อสารภาษาสเปนเป็นหลัก) จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดสูงกว่าผู้หญิงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้หญิงเชื้อชาติฮิสแปนิก
  • กรรมพันธุ์ ประวัติครอบครัวที่มีการตั้งครรภ์ฝาแฝดนั้นจะส่งผลให้มีการตั้งครรภ์ฝาแฝดเพิ่มขึ้น โดยประวิติครอบครัวของมารดาจะมีอิทธิพลมากกว่าทางฝั่งบิดา และจะโอกาสตั้งครรภ์แฝดสูงขึ้นเมื่อมีพี่สาว น้องสาว มารดา หรือยาย ที่ให้กำเนิดแฝดเทียม หรือตัวเธอเองเป็นหนึ่งในฝาแฝดเทียม
  • อายุของฝ่ายหญิง อัตราการตั้งครรภ์ลูกแฝดจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยหญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 45 ปี ตั้งครรภ์ลูกแฝด โดยเป็นแฝดสอง (twins) มากที่สุด นอกจากนี้ หญิงในช่วงวัย 30-40 ปีมีแนวโน้มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่าวัยอื่น จึงอาจทำให้มีโอกาสที่จำนวนที่ไข่จะตกได้มากกว่าหนึ่งฟองในแต่ละรอบเดือน
  • ประวัติการตั้งครรภ์ก่อนหน้า หากฝ่ายหญิงเคยตั้งครรภ์มาก่อน โดยเฉพาะการตั้งครรภ์แฝด ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะตั้งครรภ์แฝดได้มากยิ่งขึ้น
  • เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ในการช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากนั้นจะต้องทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายหญิง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีมากกว่า 1 ตัวอ่อนจึงทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดสูงขึ้นตามไปด้วย

 

โดยปกติแล้วการครรภ์ลูกแฝดถือเป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ มีความเสี่ยงสูงมากว่าเด็กจะคลอดก่อนกำหนด แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ทารกแฝดมีโอกาสรอดมากขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณแม่มีโอกาสตั้งครรภ์ลูกแฝดได้ง่ายขึ้น เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยให้คู่รักที่มีบุตรยาก มีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าสมัยก่อนมาก โดยปกติแพทย์จากโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางจะใส่ตัวอ่อนสองตัวขึ้นไปเพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จ นั่นกลับกลายเป็นว่าคุณแม่จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้นไปด้วย

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายอาจอยากรู้ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกแฝดกำลังจะมา คุณแม่ทุกคนเวลาตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย บางคนไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์แฝด แต่หลายคนสังเกตเห็นสัญญาณบางอย่างที่บอกว่าน่าจะตั้งครรภ์แฝดได้ ลองสังเกตอาการต่อไปนี้

 

  • อาการแพ้ครรภ์มากกว่าปกติ คลื่นไส้รุนแรง กินอะไรไม่ค่อยลง เหม็นกลิ่นฉุนง่าย ปวดปัสสาวะบ่อย เห็นได้ชัดว่ามีอาการแพ้ครรภ์มากกว่าปกติ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้าอกใหญ่ขึ้นผิดปกติ คาดได้ว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์แฝด เพราะฮอร์โมน hCG ผลิตออกมามากในขณะกำลังตั้งครรภ์นั่นเอง
  • คุณแม่ครรภ์ใหญ่ น้ำหนักขึ้นเร็วกว่าตอนครรภ์ปกติ เพราะการอุ้มครรภ์เด็กสองคนทำให้มดลูกขยายเป็นสองเท่า คุณแม่ครรภ์แฝดจะเห็นหน้าครรภ์ออกชัดเจนตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือน แต่อาจมีปัจจัยอื่นทำให้ครรภ์ใหญ่ได้เหมือนกัน เช่น การรับประทานอาหารที่มากขึ้นของคุณแม่
  • คุณแม่รู้สึกว่าเด็กในครรภ์เคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณบอกการตั้งครรภ์แฝดนะคะ ปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ธรรมดาจะไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในครรภ์จนกว่าอายุครรภ์ครบ 14 หรือ 16 สัปดาห์ แต่สำหรับครรภ์แฝดแล้ว จะรู้สึกว่าลูกในครรภ์เคลื่อนไหวตั้งแต่ครรภ์ยังไม่ถึง 14 สัปดาห์
  • การตรวจอัลตราซาวด์จะบอกชัดว่าคุณแม่ตั้งครรภ์แฝดในช่วงอายุครรภ์ 12 - 18 สัปดาห์ การตั้งครรภ์ลูกแฝดมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติหรือโรคแทรกซ้อน เช่น ทารกตัวเล็กกว่าอายุครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดมีภาวะเสี่ยงหลายอย่าง ควรเตรียมตัวก่อนคลอดให้ดีและให้พบแพทย์จากโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางเพื่อทำการตรวจเป็นประจำ เพราะมีโอกาสที่เด็กจะคลอดก่อนกำหนดได้
  • การตรวจครรภ์แฝดอีกวิธี คือตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงแบบดอพเลอร์ (Doppler) คือการฟังเสียงหัวใจที่เต้นแยกกันของเด็กแฝดในครรภ์ได้ชัดเจน

 

คุณแม่ครรภ์ลูกแฝดควรดูแลตัวเองมากกว่าปกติ เพราะเป็นภาวะที่มีความเสี่ยง มีโอกาสจะแท้งหรือเกิดโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์แฝดเทียมปลอดภัยกว่าเพราะเด็กทารกแต่ละคนจะอยู่ในรกและถุงน้ำคร่ำคนละชุดแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง แตกต่างจากแฝดแท้ที่อาศัยอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำเดียวกันจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายมากกว่า

โรคและอาการแทรกซ้อนระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด มีดังนี้

 

  • อาการแพ้ท้องในตอนเช้า คุณแม่จะมีการอาเจียนค่อนข้างรุนแรงกว่าการตั้งครรภ์ปกตินะคะ
  • มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • มีอาการครรภ์เป็นพิษ
  • คลอดก่อนกำหนด โดยปกติอายุครรภ์จะไม่ถึง 38 สัปดาห์
  • มีอาการเลือดออก รกขวางปากมดลูก รกลอกตัวก่อนกำหนด

 

โรคแทรกซ้อนของทารกในครรภ์แฝด มีอะไรบ้าง

 

  • เมื่อแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย
  • มีอาการตัวเหลือง เป็นโรคคดีซ่าน
  • ทารกมีปัญหาด้านการรับสารอาหาร
  • ทารกอาจต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหลังจากคลอด
  • อาจมีปัญหาในเรื่องระดับอุณหภูมิในร่างกาย และระบบน้ำตาลไม่คงที่
  • อาจติดเชื้อ หรือป่วยง่าย เนื่องจากทารกบอบบางและอ่อนแอ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

 

การตั้งครรภ์ลูกแฝดเกิดขึ้นในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF เป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน และตอบคำถามข้างต้นว่า ผู้มีบุตรยากจะตั้งครรภ์ลูกแฝดได้ เนื่องจากการตั้งครรภ์ลูกแฝดทำได้ง่ายขึ้นด้วยการทำ IVF จากการย้ายตัวอ่อน (embryo) หลายตัวกลับเข้าสู่มดลูกของฝ่ายหญิง และเกิดการฝังตัวของตัวอ่อนมากกว่าหนึ่งตัว ทำให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดตามมา โดยโอกาสการตั้งครรภ์ลูกแฝดจากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ จำนวนตัวอ่อนที่ย้าย, อายุฝ่ายหญิง, และสาเหตุภาวะมีบุตรยากของผู้เข้ารับการรักษา ยิ่งมีการย้ายตัวอ่อนมากเท่าใด โอกาสในการตั้งครรภ์แฝดก็ยิ่งสูง และจะยิ่งสูงขึ้นอีกในผู้หญิงที่มีอายุน้อย

 

จากการวิจัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า อัตราการตั้งครรภ์ลูกแฝดมีโอกาสสูงถึง 45.7%ในผู้หญิงอายุ 20-29 ปี และลดลงต่ำกว่า 25% ในผู้หญิงอายุ 40-44 ปี ถึงแม้จะมีการย้ายตัวอ่อนถึง 5 ตัวก็ตาม การรับคำปรึกษาโดยตรงกับแพทย์จากโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางด้าน IVF จะช่วยให้ทราบและเข้าใจโอกาสของการตั้งครรภ์แฝดจากการทำ IVF ของคุณแม่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับคู่รักที่กำลังพิจารณาการตั้งครรภ์ลูกแฝดโดยการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF ต้องเตรียมตัวและเตรียมใจอย่างไรบ้าง  ลำดับแรกขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการตั้งครรภ์แฝดอย่างละเอียดถี่ถ้วน และปรึกษากับแพทย์จากโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางโดยตรง การตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้น มีข้อกังวลหลายประการที่อาจเกิดขึ้น เช่น การตั้งครรภ์แฝดมักมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทารกเสียชีวิต ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกมีปัญหาสุขภาพที่รุนแรงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในหออภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) ซึ่งอาจทำให้ครอบครัวเหนื่อยทั้งทางกาย, ทางอารมณ์และทางการเงิน หรือ

 

กล่าวโดยสรุปคือ การตั้งครรภ์ลูกแฝด มีโอกาสที่จะเกิดปัญหามากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงของกระบวนการ IVF  ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางอารมณ์และร่างกาย โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่จะต้องผ่านทุกขั้นตอนตั้งแต่การกระตุ้นไข่จนถึงขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน อีกทั้งการทำ IVF เพียงหนึ่งรอบอาจไม่ได้เป็นการรับประกันผลสำเร็จ และอาจจำเป็นต้องทำซ้ำหลายครั้ง ดังนั้น คุณควรพิจารณาให้รอบคอบ หากต้องการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF เพียงเพื่อพยายามตั้งครรภ์ลูกแฝด

 

ส่วนในคุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรยากและเลือกวิธีรักษาด้วยการทำ IVF แต่ไม่ประสงค์จะมีลูกแฝด สามารถเลือกย้ายตัวอ่อนเพียงแค่ตัวเดียวในแต่ละรอบของการทำ IVF เพื่อลดโอกาสในการตั้งครรภ์แฝด ในอดีต แพทย์มักต้องการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ โดยพยายามย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูกให้มากที่สุด แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนขั้นสูงและเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น การเลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซิสต์ซึ่งมีโอกาสฝังตัวสูงกว่าตัวอ่อนระยะ ฯลฯ การย้ายตัวอ่อนเพียงตัวเดียวก็มีอัตราผลสำเร็จที่ค่อนข้างสูง และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทั้งหมด 

 

นอกจากนี้ หากคุณเลือกที่จะย้ายตัวอ่อนทีละหนึ่งตัวคุณสามารถเก็บรักษาตัวอ่อนที่เหลือไว้ใช้ในภายหลัง โดยการแช่แข็งตัวอ่อน ด้วยเทคนิค Vitrification ตัวอ่อนของคุณจะถูกแช่แข็งโดยการลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วจนโมเลกุลของน้ำไม่สามารถสร้างผลึกน้ำแข็งในเซลล์ตัวอ่อน ตัวอ่อนของคุณจะถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างยาวนานและคงคุณภาพสูง หากเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานสูงและได้รับการดูแลอย่างดีควบคู่กับการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบปริมาณไนโตรเจนเหลวและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ หากต้องการตั้งครรภ์อีกครั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF ตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่สามารถนำตัวอ่อนแช่แข็งมาละลายใช้ ในขั้นตอนที่เรียกว่า Frozen Thaw Embryo Transfer (FET) ได้เลย

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจมีคำถามว่า หากเลือกย้ายตัวอ่อนเพียงตัวเดียว ยังมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์แฝดอยู่หรือไม่ คำตอบก็คือ แม้ว่าจะไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปได้และไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อนจากการทำ IVF แต่อย่างใด แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการตั้งครรภ์แฝดที่เรียกว่า แฝดแท้ หรือ Monozygotic twins โดยการตั้งครรภ์แฝดแท้ ไม่ได้เกิดจากไข่สองใบ ตัวอ่อนสองตัว แต่เกิดจากไข่เพียงใบเดียว (หรือจากการย้ายตัวอ่อนเพียงตัวเดียว) ที่เกิดการแบ่งหรือแยกตัวออกเป็นสองตัวอ่อนในระหว่างกระบวนการแบ่งเซลล์ และเจริญเติบโตกลายเป็นทารกในครรภ์ 2 คน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ฝาแฝดแท้ ที่มียีนเหมือนกันทั้งหมด มีเพศเดียวกัน และมักจะมีลักษณะภายนอกเหมือนกันทุกประการ

 

โดยสรุปแล้ว การตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้นค่อนข้างซับซ้อน ไม่มีกฎตายตัว และไม่มีสูตรสำเร็จที่แน่นอนขึ้นกับสภาพร่างกายและประวัติครอบครัวของแต่ละคน  อย่างไรก็ดี สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ผู้มีบุตรยากและอยากตั้งครรภ์ควรทำ คือการปรึกษากับแพทย์จากโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางที่มีประสบการณ์เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย ความเสี่ยงต่าง ๆ และโอกาสที่คุณจะมีลูกแฝด นอกจากนี้ การเลือกคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากที่มีมาตรฐานและมีประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณได้รับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำอิ๊กซี่ ICSI, IUI และ IVF ซึ่งมีราคาแตกต่างกันไป ก็เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการตั้งครรภ์แฝด 

 

อ้างอิง

https://thaisuperiorart.com/th/news-and-articles/4336/

https://thaisuperiorart.com/th/news-and-articles/4688/

https://www.huggies.co.th/th-th/getting-pregnant/get-ready-for-your-child/twin

 

 

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร