โดย คณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
หลักการและเหตุผล
การตั้งครรภ์แฝด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ จากการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยง และผลเสียทั้งต่อมารดาและทารก ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์ เพิ่มอุบัติการณ์การผ่าตัดคลอดบุตร และการตกเลือดหลังคลอด การคลอดก่อนกำหนด รวมทั้งทารกที่คลอดออกมาจะเพิ่มอัตราการที่จะต้องอยู่ใน NICU ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาวการณ์ตั้งครรภ์แฝด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งครรภ์ตั้งแต่แฝดสามขึ้นไป (high-order mutlifetal pregnancy ) ทางคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ จึงได้จัดทำคำแนะนำการผสมเทียมด้วยการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์แฝดในการรักษาภาวะมีบุตรยาก
เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ คือ การคลอดทารกครรภ์เดี่ยวที่มีสุขภาพแข็งแรง การผสมเทียมด้วยการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก อาจทำได้ทั้งในกรณีที่มีการกระตุ้นรังไข่และไม่ต้องกระตุ้นรังไข่ แต่การกระตุ้นรังไข่อาจทำให้มีฟอลลิเคิลเจริญเติบโตขึ้นมามากกว่า 1 ฟอลลิเคิล ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์แฝด โดยทั่วไปพบอุบัติการณ์ของการตั้งครรภ์แฝดจากการผสมเทียมด้วยการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูกประมาณร้อยละ 4-22 ทั้งนี้จากกการศึกษาพบว่า
อัตราการตั้งครรภ์แฝด จากการผสมเทียมจะเพิ่มขึ้นแปรตามจำนวนฟอลลิเคิล ที่มีขนาด 14 มิลลิเมตร คือ
1-2 ฟอลลิเคิล ร้อยละ 0.3-6.0
3 ฟอลลิเคิล ร้อยละ 8.6-14.0
4 ฟอลลิเคิล ร้อยละ 10-13
5 ฟอลลิเคิล มากกว่าร้อยละ 30
โดยทั่วไปจึงแนะนำให้ยกเลิกทำการผสมเทียมด้วยการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก เมื่อมีฟอลลิเคิล ขนาด 14 มิลลิเมตร จำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 4 ฟอลลิเคิล
คำแนะนำสำหรับการผสมเทียมด้วยการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก
1. ในกรณีที่มีฟอลลิเคิลขนาด 14 มิลลิเมตรจำนวน 1-2 ฟอลลิเคิล สามารถทำการผสมเทียมได้
2. ในกรณีที่มีฟอลลิเคิลขนาด 14 มิลลิเมตร จำนวน 3 ฟอลลิเคิล อาจจะทำการผสมเทียมได้ หากแพทย์และคู่สามีภรรยาพิจารณาร่วมกันแล้ว สามารถยอมรับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการตั้งครรภ์แฝดได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่สมควรทำการผสมเทียมในกรณีต่อไปนี้
2.1 สตรีที่มีโรคประจำตัวที่จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในกรณีที่ตั้งครรภ์แฝด ( medical risks of multifetal gestation) เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) , morbid obesity หรือความดันโลหิตสูงเรื้อรัง (chronic hypertension) เป็นต้น
2.2 สตรีที่มีโรคหรือประวัติทางสูติ-นรีเวช ที่จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในกรณีที่ตั้งครรภ์แฝด (obstetrical risks of multifetal gestation) ได้แก่ มีประวัติ cervical incompetence มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดที่เกิดขึ้นเอง ( spontaneous preterm birth) ก่อนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป หรือเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษรุนแรงในครรภ์ก่อน หรือในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมดลูกแตกขณะตั้งครรภ์หรือเจ็บครรภ์ ได้แก่ uterine malformation เคยผ่าตัดคลอดบุตรตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป หรือเคยผ่าตัด intramural myomectomy ที่ก้อนมีขนาดใหญ่ เป็นต้น
2.3 เคยคลอดบุตรตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป
3. ในกรณีที่มีฟอลลิเคิลขนาด 14 มิลลิเมตร จำนวน 4 ฟอลลิเคิล แนะนำให้ยกเลิกทำการผสมเทียมในรอบนั้น และใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยร่วมด้วย ในกรณีที่ไม่ต้องการจะยกเลิกการรักษาแนะนำให้ทำ follicular reduction by aspiration ให้เหลือน้อยกว่า 4 ฟอลลิเคิล ก่อนที่จะทำการผสมเทียม หรืออาจเปลี่ยนการรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว ( in vitro fertilization : IVF) แทน
สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก
กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร