การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อน (PGS หรือ PGT-A)

 

     เป็นกรรมวิธีการหนึ่งในการช่วย “ คัดเลือก ” ตัวอ่อน ว่าตัวอ่อนตัวใดที่ควรจะพิจารณานำมาย้ายกลับเข้าสู่มดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ จากจำนวนตัวอ่อนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากทำเด็กหลอดแก้วในครั้งหนึ่งๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการ “ คัดเลือก ” ตัวอ่อนที่จะย้ายกลับเข้าสู่มดลูก จะพิจารณาจากคุณภาพหรือ เกรด (grade) ของตัวอ่อนเป็นสำคัญ การตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อน จึงเป็นเครื่องมือเสริมอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะนำมาใช้ร่วมกันในการช่วย “ คัดเลือก ” ตัวอ่อน ขั้นตอนการตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อน 1.ตัวอ่อนที่เกิดขึ้นจากการเด็กหลอดแก้วทั้งหมด จะได้รับการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นระยะเวลา 5-6 วัน จนตัวอ่อนเจริญไปถึงระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) และมีการฟักตัว (hatching) ออกจากเปลือกหุ้ม

ขั้นตอนการตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อน
     1.ตัวอ่อนที่เกิดขึ้นจากการเด็กหลอดแก้วทั้งหมด จะได้รับการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นระยะเวลา 5-6 วัน จนตัวอ่อนเจริญไปถึงระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) และมีการฟักตัว (hatching) ออกจากเปลือกหุ้ม


ทั้งนี้จะมี เพียงร้อยละ 30-70 ของตัวอ่อนทั้งหมด เท่านั้นที่จะสามารถเจริญไปถึงระยะบลาสโตซิสต์ได้ รวมทั้งมีบางรายที่ตัวอ่อนทั้งหมดอาจจะหยุดการเจริญเติบโตและไม่สามารถเจริญไปถึงระยะบลาสโตซิสต์ได้ ทำให้ไม่สามารถจะทำการตรวจโครโมโซมได้ และไม่สามารถจะนำมาย้ายกลับเข้าสู่มดลูก ซึ่งจำเป็นจะต้องเริ่มต้นการทำเด็กหลอดแก้วในรอบใหม่


 

     2. ตัวอ่อนบลาสโตซิสต์ที่เริ่มมีการฟักตัวจากเปลือกหุ้มแล้ว จะนำมาสุ่มตัดเซลล์ตัวอย่าง (biopsy) เพื่อนำเซลล์ตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์โครโมโซม  จากนั้นนำตัวอ่อนไปเก็บแช่แข็งไว้ก่อนเพื่อรอผลการตรวจโครโมโซมในภายหลัง โดยจะทำการสุ่มตัดเซลล์ตัวอย่างจากตัวอ่อนบลาสโตซิสต์ที่เกิดขึ้นทุกตัวอ่อน

 

     3. นำเซลล์ตัวอย่างที่สุ่มตัดมาจากตัวอ่อนบลาสโตซิสต์แต่ละตัว ไปตรวจหาความปกติของโครโมโซมด้วยวิธี Next generation sequencing ( NGS) ซึ่งจะทำการตรวจโครโมโซมทั้ง 23 คู่ รวมทั้งโครโมโซมเพศด้วย

 

     4. เมื่อได้ผลการตรวจโครโมโซมของตัวอ่อนบลาสโตซิสต์แต่ละตัวอ่อนแล้ว จึงนำมาใช้พิจารณา “คัดเลือก” ตัวอ่อนที่จะย้ายกลับเข้าสู่มดลูกในรอบแช่แข็งต่อไป
     ทั้งนี้ควรเข้าใจว่า การตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อนจะ “ไม่สามารถ” เปลี่ยนแปลงตัวอ่อนที่มีโครโมโซมผิดปกติให้เป็นตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติได้

การตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อนมีทั้งข้อดี และข้อเสีย
ข้อดี
     1.อาจจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ที่เด็กจะมีจำนวนโครโมโซมที่ผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) เป็นต้น
     แต่ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า แม้ตัวอ่อนที่ผ่านการตรวจด้วยวิธีการนี้แล้วก็ยังไม่สามารถจะรับประกันผลได้ร้อยเปอร์เซนต์ ว่าเด็กที่เกิดขึ้นจะไม่มีความผิดปกติทางโครโมโซมดังกล่าว
     2.อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะตั้งครรภ์ต่อรอบของการย้ายกลับตัวอ่อน
     3.อาจจะช่วยลดอัตราการแท้งในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ลงได้
     อย่างไรก็ตาม ข้อดี ดังกล่าวทั้ง 3 ข้อ จะมีประโยชน์ เฉพาะในกรณีผู้ป่วยที่มีการตอบสนองของรังไข่ต่อการกระตุ้นที่ดี รวมทั้งต้องมีตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ที่มีคุณภาพดีเกิดขึ้นจำนวนมาก
     แต่ทางตรงกันข้าม ในกรณี ผู้ป่วยที่รังไข่ตอบสนองที่ต่ำ หรือมีตัวอ่อนบลาสโตซิสต์เกิดขึ้นจำนวนน้อยหรือมีคุณภาพต่ำ กลับอาจจะทำให้สูญเสียโอกาสที่จะตั้งครรภ์ หรือมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ลดต่ำลงกว่าปกติได้ เนื่องจากท้ายที่สุด อาจจะไม่พบว่ามีตัวอ่อนที่ผ่านการ “ คัดเลือก” สำหรับการย้ายกลับเข้าสู่มดลูกเลย ซึ่งก็จำเป็นต้องเริ่มต้นการทำเด็กหลอดแก้วรอบใหม่

ข้อเสีย
     1.การตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อนยังไม่สามารถรับประกันผลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเด็กที่เกิดขึ้นจากตัวอ่อนที่ผ่านการตรวจดังกล่าวจะไม่มีความผิดปกติ เนื่องจากวิธีการนี้อาศัยการสุ่มตัดเซลล์ตัวอย่างเพียงบางเซลล์ของตัวอ่อนมาตรวจ ในขณะที่ธรรมชาติของตัวอ่อนบลาสโตซิสต์จะประกอบด้วยเซลล์จำนวนมากนับร้อยเซลล์ โดยที่แต่ละเซลล์อาจจะมีทั้งเซลล์ที่มีโครโมโซมปกติและไม่ปกติปะปนกันอยู่ ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า โมเซอิก (Mosaic) โดยถ้าเป็นตัวอ่อนที่ปกติจะมีสัดส่วนจำนวนเซลล์ที่มโครโมโซมที่ปกติมากกว่า ตรงกันข้ามตัวอ่อนที่ผิดปกติก็จะมีสัดส่วนจำนวนของเซลล์ที่มีโครโมโซมที่ผิดปกติมากกกว่า ดังนั้นการสุ่มตัดเซลล์ตัวอย่างไปตรวจอาจทำให้มีการแปรผลผิดพลาดได้ทั้งแบบที่เป็น ผลบวกลวง (false positive) คือ แท้จริงแล้วเป็นตัวอ่อนที่ปกติแต่แปรผลการตรวจเป็นตัวอ่อนที่ผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ตัวอ่อนตัวนั้นไม่ได้รับการ “คัดเลือก” และเสียโอกาสที่จะได้รับการย้ายกลับเข้าสู่มดลูก ในการตรงกันข้ามอาจจะเกิด ผลลบลวง (false negative) คือ แท้จริงแล้วเป็นตัวอ่อนที่ผิดปกติแต่แปรผลเป็นตัวอ่อนที่ปกติ ซึ่งเมื่อตัวนี้ได้รับการ “ คัดเลือก ” ย้ายกลับเข้าสู่มดลูก อาจมีผลให้ไม่ตั้งครรภ์ หรือ ตั้งครรภ์แล้วเกิดการแท้ง หรือทารกมีโครโมโซมผิดปกติได้
    2.ความเสี่ยงในการที่จะไม่ได้รับการย้ายกลับตัวอ่อนเข้าสู่มดลูก และจะต้องเริ่มต้นการกระตุ้นรังไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้วใหม่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น กรณีผู้ป่วยที่มีตัวอ่อนในจำนวนที่น้อย หรือร่วมกับเป็นตัวอ่อนที่คุณภาพต่ำ เมื่อทำการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนไปจนถึงวันที่ 5 อาจมีความเสี่ยงที่ตัวอ่อนทั้งหมดจะไม่สามารถเจริญต่อไปจนถึงระยะบลาสโตซิสต์ได้เลย จึงไม่สามารถจะทำการตรวจคัดกรองโครโมโซมได้ และ สูญเสียโอกาสที่จะได้รับการย้ายกลับเข้าสู่มดลูก หรือในกรณีที่เมื่อเลี้ยงตัวอ่อนไป 5 วัน พบมีตัวอ่อนบลาสโตซิสต์เกิดในจำนวนที่น้อย ย่อมมีความเสี่ยงที่เมื่อทำการตรวจคัดกรองโครโมโซมแล้ว อาจไม่พบว่ามีตัวอ่อนตัวใดที่มีโครโมโซมที่ปกติเลย ในกรณีเช่นนี้ก็จะ ทำให้ไม่ได้รับการย้ายกลับตัวอ่อน
     3.ในบางครั้งผลการตรวจคัดกรองโครโมโซมอาจจะไม่ได้ไปด้วยกันกับเกรด (grade )ของตัวอ่อน เช่น เป็นตัวอ่อนเกรดที่ดีแต่ผลตรวจโครโมโซมอ่านว่า มีโครโมโซมผิดปกติ แต่ตัวอ่อนที่เกรดไม่ดีกลับอ่านผลว่ามีโครโมโซมปกติ ทำให้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีไม่ได้รับการ “คัดเลือก” ย้ายกลับเข้าสู่มดลูก และอาจจะมีผลให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลงได้
     4.การตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อนถือเป็นการตรวจพิเศษ ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการทำเด็กหลอดแก้วตามปกติ

ข้อพิจารณาว่าตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อน จะได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์
     กลุ่มผู้ที่น่าจะได้รับประโยชน์ หรือ “ ข้อดี ” จากการตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อน คือ ควรจะเป็นผู้ที่มีจำนวนตัวอ่อนบลาสโตซิสต์ที่มีคุณภาพดีจากการทำเด็กหลอดแก้ว ไม่น้อยกว่า 4 ตัวอ่อน
     กลุ่มผู้ที่มีตัวอ่อนจำนวนน้อยหรือร่วมกับตัวอ่อนที่คุณภาพไม่ดี จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ตัวอ่อนบลาสโตซิสต์ หรือ ได้ในจำนวนที่น้อยและคุณภาพไม่ดี ทำให้เสี่ยงที่จะไม่ได้ตัวอ่อนที่โครโมโซมปกติ และ ไม่ได้รับการย้ายกลับตัวอ่อนเข้าสู่มดลูก ดังนั้นการตรวจคัดกรองโครโมโซมในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงอาจจะกลายเป็น “ ข้อเสีย” ได้

ข้อสรุป
     1.การตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อน เป็น " ทางเลือก” ของการรักษา โดยขึ้นอยู่กับความประสงค์ ของผู้ป่วยแต่ละราย
     2.วิธีการนี้มีทั้ง “ ข้อดี ” และ “ ข้อเสีย ” ขึ้นอยู่กับพื้นฐานปัจจัยของผู้ป่วยแต่ละคนเป็นสำคัญ
     3.ก่อนจะจะตัดสินใจเลือกการรักษา ผู้ป่วยแต่ละรายควรจะศึกษาข้อมูลทั้ง “ ข้อดี ” และ “ ข้อเสีย ” รวมทั้ง “ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ” ให้กระจ่างก่อน เพื่อประกอบการพิจารณาว่าต้องการจะทำการตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อนหรือไม่

 

 

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร