(Embryo cryopreservation)
การย้ายกลับตัวอ่อนยังอาจทำได้ 2 วิธี คือในรอบสดซึ่งเป็นรอบเดียวกับที่ทำการกระตุ้นไข่และมีการปฏิสนธิให้เกิดเป็นตัวอ่อน หรือในรอบแช่แข็งคือนำตัวอ่อนที่เกิดขึ้นไปเก็บแช่แข็งไว้ก่อน จากนั้นจึงปรับให้มีรอบประจำเดือนมา แล้วค่อยให้ยาเตรียมผนังเยื่อบุโพรงมดลูกในรอบถัดไปเพื่อให้มดลูกมีความพร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน จากนั้นจึงค่อยละลายตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้มาย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก
ในปัจจุบันมีความนิยมที่จะย้ายกลับตัวอ่อนในรอบแช่แข็งมากขึ้น เนื่องจากเทคนิคการแช่แข็งตัวอ่อนแบบเนื้อแก้ว (Vitrification)ได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีอัตราการรอดของตัวอ่อนภายหลังการแช่แข็งที่สูงขึ้น รวมทั้งการย้ายกลับตัวอ่อนในรอบแช่แข็งยังมีข้อดีกว่าการย้ายตัวอ่อนกลับในรอบสด คือ ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome) เพราะการย้ายกลับตัวอ่อนในรอบสดซึ่งเป็นรอบที่รังไข่ได้รับการกระตุ้นด้วยยาฉีด ซึ่งถ้ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นฮอร์โมนที่เกิดจากการตั้งครรภ์จะไปกระตุ้นรังไข่ให้มีการทำงานอย่างมาก และจะมีการผลิตน้ำจำนวนมากมากเข้ามาขังอยู่ในช่องท้องทำให้มีอาการแน่นอึดอัดท้อง โดยเฉพาะในรายที่รังไข่ถูกกระตุ้นให้มีการสร้างไข่เป็นจำนวนมากอาจจะมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้จากรายงานการศึกษาส่วนใหญ่ยังพบว่าการย้ายกลับตัวอ่อนในรอบแช่แข็งมีอัตราการตั้งครรภ์ที่สูงกว่าการย้ายตัวอ่อนกลับในรอบสด เพราะมีการเตรียมผนังเยื่อบุโพรงมดลูกให้มีความเหมาะสมและพร้อมที่รับการฝังตัวของตัวอ่อนมากกว่า